กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยแม่โจ้
Arts and Culture Promotion Division

ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม การประกวดกระทงใหญ่ ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในงานประเพณีเดือนยี่เป็งเชียงใหม่ ประจำปี2565 ภายใต้แนวคิด "เชียงใหม่นครที่เป็นที่สุดแห่งความสง่างามทางวัฒนธรรม ความสุขแห่งสายน้ำปิงนครามหานที" โอกาสนี้ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นผู้แทนเข้ารับรางวัลถ้วยพระราชทาน ณ ปะรำพิธี หน้าสำนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่

สำหรับในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดทำรถกระทงใหญ่ ในแนวคิด “มิ่งระมิงค์พิงค์บุรีสรีเชียงใหม่เสน่ห์สายน้ำอุดมความงามถิ่นวัฒนธรรม” เพราะ “น้ำ” ถือเป็นต้นกำเนิดแหล่งอารยธรรม เป็นเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงชีวิตทุกชาติพันธุ์ จนเกิดแหล่งอารยธรรมต่างๆเกิดขึ้น โดยเฉพาะอุษาคเนย์ที่มีจารีต พิธีกรรมและการละเล่นเกี่ยวกับน้ำมากมาย เชียงใหม่เมืองเก่าแก่ก่อตั้งมาร่วม 700 ปี มีน้ำแม่ระมิงค์หรือน้ำปิงเป็นแม่น้ำหลักที่หล่อเลี้ยงชาวเชียงใหม่มายาวนาน ก่อให้เกิดจารีตประเพณี เช่น ประเพณีลอยกระทง การขอขมาแม่น้ำ การบวชกลางน้ำ เป็นต้น มหาวิทยาลัยแม่โจ้จึงจัดขบวนรถกระทงโดยอาศัยแนวคิดเกี่ยวกับวิถีชีวิตที่ผูกพันกับสายน้ำ ใช้โทนสีที่โดดเด่นเพื่อสื่อให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของวัฒนธรรมล้านนาผ่านเสื้อผ้าอาภรณ์ ท่วงทำนอง การฟ้อนรำ เครื่องสักการะ
- สีน้ำเงินคราม สื่อถึงสายน้ำปิง (ระมิงค์) ที่หล่อเลี้ยงผู้คนในลุ่มน้ำปิงเชียงใหม่มาอย่างยาวนาน สร้างสรรค์ผ่านขบวนศิลปวัฒนธรรม เช่น การแต่งกาย เครื่องประดับ เครื่องสักการะ การละเล่น
- สีเขียว สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้รวมถึงความอุดมสมบูรณ์ของการเกษตร ที่น้ำมีความเกี่ยวข้องกับการเกษตรอย่างยิ่ง อีกนัยหนึ่งนั้น เป็นสีที่สื่อถึงความชุ่มเย็นและเป็นหนึ่งในสีประจำมหาวิทยาลัยแม่โจ้อีกด้วย
- สีทอง สื่อถึงความมั่งคั่ง มีอารยธรรมและความรุ่งเรืองแห่งวัฒนธรรมในเชียงใหม่ลุ่มน้ำแม่ระมิงค์

ในส่วนของการออกแบบตัวรถกระทงจะสอดคล้องกับประเพณีคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนา เลือกใช้สัญลักษณ์เพื่อสื่อถึงความเคารพต่อสายน้ำอันเป็นมงคลของเมืองเชียงใหม่ และระลึกถึงภารกิจที่ได้น้อมรับมาจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรและพระบรมราชชนนีพันปีหลวงในการที่จะดูแลนิเวศป่าต้นน้ำและแหล่งการเกษตรในพื้นที่ใกล้กับเมืองเชียงใหม่ให้ยังคงความอุดมสมบูรณ์สืบไป โดยคติที่ได้นำมาสื่อในการประดับรถกระทงประกอบด้วย

ส่วนกลางรถกระทงจำลอง “พระเกศแก้วจุฬามณี” เชื่อว่าเป็นพระเจดีย์ที่บรรจุพระจุฬาและพระโมลีของเจ้าชายสิทธัตถะ ครั้งเมื่อทรงเสด็จออกผนวชทรงตัดพระจุฬา พร้อมพระโมลีแล้วขว้างไปในอากาศ ขณะนั้นท้าวสักกะเทวราชนำผอบแก้วมารองรับเอาไปประดิษฐานในพระเจดีย์ ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ความเชื่อนี้ได้ทำให้มีการสร้างพระเจดีย์ที่วัดเกตอยู่ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง อันเป็นย่านเศรษฐกิจสำคัญของเชียงใหม่มาตั้งแต่อดีต และเป็นย่านท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของเมืองเชียงใหม่ริมแนวแม่น้ำปิงในปัจจุบัน สัญลักษณ์นี้เชิงปรัชญา ยังหมายถึง ระลึกบูชาพระรัตนตรัยและดวงปัญญาอันบริสุทธิ์ที่ปกปักรักษาเมืองเชียงใหม่

ชั้นถัดลงมามีช้างเผือกสองคู่รวมสี่เชือก สื่อถึงพุทธบริษัททั้งสี่ภายในเมืองเชียงใหม่ที่ตั้งตนวางตัวอยู่ในศีลธรรม ต่างมุ่งหวังที่จะฝึกตนให้เป็นผู้ปฏิบัติดี เหมือนดั่งพญาช้างเผือกผู้มีกำลังพร้อมพาเมืองเชียงใหม่ให้วัฒนาผ่องใส โดยคู่แรกอยู่ด้านหน้ารถกระทงชูพระปรมาภิไธยย่อของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสืบสานพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการจัดการน้ำเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตของชาวเมือง และคู่ที่สองอยู่ด้านหลังรถกระทงชูพระปรมาภิไธยย่อของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างในการอนุรักษ์ป่าไม้ สิ่งแวดล้อม และส่งเสริมอาชีพให้แก่เกษตรกรในท้องถิ่น และในส่วนกลางรถกระทงด้านใต้พระเจดีย์ ได้วางสัญลักษณ์มหาวิทยาลัยแม่โจ้ในซุ้มหางนาคที่วางรูปทรงอย่างหม้อปูรณฆฏะหรือหม้อแห่งความอุดมสมบูรณ์และร่มเย็น สื่อถึงความความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาความอุดมสมบูรณ์และร่มเย็นของเมืองเชียงใหม่

ชั้นล่างสุดรองรับเอาไว้ด้วยพญานาคทั้งสี่ทิศ สื่อถึงนาคในตระกูลฉัพพยาปุตตะผู้ถือสัจจะในการดูแลรักษาพระพุทธศาสนา ตามตำนานยังถือว่าเป็นกลุ่มตระกูลนาคที่เข้ามาช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่มีความประพฤติหรือความตั้งใจจริงในการทำสิ่งที่ดีให้ประสบความสำเร็จ และการสื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ของสายน้ำและสิ่งแวดล้อม ที่ได้จากการที่ชาวเมืองเชียงใหม่หรือช้างเผือกทั้งสี่ได้รักษาดูแลธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงมีกำลังที่ส่งมอบสิ่งดีๆสืบต่อไป
รถกระทงมหาวิทยาลัยแม่โจ้ออกแบบและใช้แนวความคิด โทนสี เรื่องราว ให้สอดคล้อง สวยงามสื่อถึงอัตลักษณ์และความเจริญรุ่งเรืองของ นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่อย่างครบถ้วนสมบูรณ์เพื่อร่วมสืบสานศิลปวัฒนธรรมประเพณียี่เป็งให้อยู่คู่เชียงใหม่และประเทศไทยสืบไป เหนือสิ่งอื่นใด ผลงานการจัดทำรถกระทงของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เกิดจากพลังแห่งความสามัคคีของชาวแม่โจ้ เป็นการทำงานร่วมแรงร่วมใจ ของนักศึกษาทุกสาขา ทุกชั้นปี ร่วมสร้างสรรค์ผลงาน ใช้เวลาในการประดิษฐ์แต่ละครั้งประมาณ 3-4 เดือน โดยมีการสืบทอดภูมิปัญญาการประดิษฐ์จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง โดยมีกองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมดูแล อำนวยความสะดวก มีคณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากรศิษย์เก่าคอยให้การสนับสนุน เพื่อช่วยกันสานต่อวัฒนธรรมองค์กรที่ดีและสืบสานวัฒนธรรมประเพณีของไทยสืบไป
ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี นับจากพ.ศ. 2512-2565 แม่โจ้ได้จัดทำรถกระทงเข้าร่วมงานเดือนยี่เป็งเชียงใหม่ร่วมอนุรักษ์และสืบสานประเพณีอันดีงามมาจวบจนปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่า "แม่โจ้" เป็นสถาบันการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักของมหาวิทยาลัยมาโดยตลอดและสร้างสรรค์ผลงานเป็นที่ประทับใจต่อคณะกรรมการและผู้ชมจนได้รับรางวัลต่อเนื่องเรื่อยมา

ปรับปรุงข้อมูล : 22/11/2565 13:48:26     ที่มา : กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยแม่โจ้     จำนวนผู้เปิดอ่าน : 603

กลุ่มข่าวสาร :

ข่าวล่าสุด

พิธีดำหัวผู้อาวุโส และอธิการบดี ประจำปี 2567
19 เมษายน 2567 มหาวิทยาลัยแม่โจ้จัดพิธีดำหัวผู้อาวุโส และอธิการบดี ประจำปี 2567 ร่วมสืบสานประเพณี ปีใหม่เมือง โดยได้รับเกียรติจาก ดร.อำนวย ยศสุข นายกสภามหาวิทยาลัย เป็นประธานอวยพรปีใหม่ โอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร. วีระพล ทองมา รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นผู้แทนกล่าวขอขมาและขอพร จากนั้นคณะผู้บริหาร ผู้แทนแต่คณะ/สำนัก ร่วมประเคนของดำหัวผู้อาวุโส ณ ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้พิธีดำหัวอธิการบดีและผู้อาวุโสของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้จัดให้มีขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการร่วมขอขมา คารวะผู้อาวุโส และเป็นการสืบสานประเพณีปีใหม่เมืองของชาวล้านนา หรือประเพณีปีใหม่ไทยช่วงเทศกาลสงกรานต์ให้คงอยู่สืบไป โดยในช่วงเช้า ตั้งแต่เวลา 08.30 น. นายกสภามหาวิทยาลัย รก.อธิการบดีพร้อมด้วยผู้บริหาร ร่วมพิธีสักการะดำหัว เจ้าแม่โจ้-เจ้าพ่อโจ้ สิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญของชาวแม่โจ้เพื่อเป็นการขอขมาและความเป็นสิริมงคลจากนั้น ในช่วงบ่ายตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป มีการเคลื่อนขบวนแห่เครื่องดำหัวของแต่ละหน่วยงานมาเข้าร่วมพิธี ซึ่งในปีนี้ได้มีกิจกรรมการประกวดขบวนแห่เครื่องดำหัว ประกวดผู้ถือป้าย ประกวดลาบเมือง และ ประกวดส้มตำลีลา เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของบุคลากร ซึ่งหน่วยงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศมีดังนี้การประกวดขบวนแห่เครื่องดำหัว รางวัลชนะเลิศประเภทขบวนขนาดเล็ก ได้แก่ คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำการประกวดขบวนแห่เครื่องดำหัว รางวัลชนะเลิศประเภทขบวนขนาดใหญ่ ได้แก่ คณะผลิตกรรมการเกษตรการประกวดลาบ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ สำนักงานมหาวิทยาลัยการประกวดส้มตำลีลา รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตรบรรยากาศเต็มไปด้วยความสุข สนุกสนาน ครื้นเครง สร้างความสัมพันธ์ในองค์กร และได้ร่วมสืบสานประเพณีอันดีงาม
22 เมษายน 2567     |      14
ร่วมพิธีสืบสานป๋าเวณี "สระเกล้าดำหัว ผู้ว่าราชการจังหวัด" ประจำปี 2567
16 เมษายน 2567 นางอุไรภัสร์ ชัยเรืองวุฒิ หัวหน้างานพิพิธภัณฑ์การเกษตรและวัฒนธรรมไทยพร้อมด้วยนายกองค์กการนักศึกษาและนักศึกษา เป็นผู้แทนมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมพิธีสืบสานป๋าเวณี "สระเกล้าดำหัว ผู้ว่าราชการจังหวัด" ประจำปี 2567 โดยมี นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์, นายชัชวาลย์ ปัญญา, นายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด และนายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย หน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และประชาชนชาวเชียงใหม่จาก 25 อำเภอ จัดขบวนแห่เครื่องสระเกล้าดำหัวแบบล้านนา จากบริเวณข่วงประตูท่าแพ ไปยังจวนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ โดยริ้วขบวนมีเครื่องสระเกล้าดำหัวที่งดงามตามประเพณีแบบล้านนา เพื่อขอสุมาคารวะ แสดงความเคารพ และขอพรจาก นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และภริยา เพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบต่อกันมาอย่างยาวนาน และเป็นส่วนหนึ่งของงานป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่ ประจำปี 2567
22 เมษายน 2567     |      17
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ร่วมงาน "เทศนาธรรม 4 ภาค ทั่วไทย" พื้นที่ภาคเหนือ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
4 เมษายน 2567 มหาวิทยาลัยแม่โจ้นำอาจารย์ เจ้าหน้าที่ บุคลากรและนักศึกษาร่วมงาน "เทศนาธรรม 4 ภาค ทั่วไทย" ครั้งที่ 2 ในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย โครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย , สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ , วัดประยุรวงศาวาส วรวิหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันจัดขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และถวายเป็นพระกุศล เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 โดยแบ่งการจัดกิจกรรมออกเป็น 2 ช่วง คือ ในช่วงเช้าเวลา 09.00 น. มี นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธาน และช่วงบ่ายในเวลา 13.30 น. มี นายเกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นประธานประกอบพิธี โดยมีพระภิกษุ สามเณร หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และพุทธศาสนิกชน เข้าร่วมพิธีกว่า 4,000 คน ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ช่วงเช้า ได้มีการจัดริ้วขบวนแห่อัญเชิญเครื่องราชสักการะ ซึ่งประกอบไปด้วยขบวนองค์พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร ขบวนพระบรมฉายาลักษณ์ ขบวนเครื่องบูชา ขบวนเครื่องสักการะ และการฟ้อนรำถวายจากคณะช่างฟ้อน 500 คน เคลื่อนขบวนเข้าสู่โถงนิทรรศการ ต่อมา นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้ประกอบพิธี "เทศนาธรรม 4 ภาค ทั่วไทย" ในภาคเช้า โดยมีการกล่าวปาฐกถาธรรมพิเศษ จาก พระพรหมบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เรื่อง "สาลิกาป้อนเหยื่อ" พร้อมทั้งมีการแสดงพระธรรมเทศนา จำนวน 2 กัณฑ์ โดย พระมหาภูวนาถ อรุณเมธี และ พระครูสังฆภารวิมล (รัตน์ติพงศ์) มหาคมฺภีรว์โส พระนักเทศน์ที่ผ่านการอบรมในโครงการทุนเล่าเรียนหลวงฯ รุ่นที่ 1 เพื่อให้ผู้ร่วมพิธีได้รับฟังพุทธธรรมตามคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อย่างถูกต้อง และธำรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนาให้มีความมั่นคงเจริญวัฒนาสืบไปช่วงบ่าย นายเกษม วัฒนชัย องคมนตรี ได้เป็นประธานประกอบพิธี "เทศนาธรรม 4 ภาค ทั่วไทย" โดยมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นการฟ้อนรำในชุด "อลังการล้านนาแว่นฟ้าเวียงพิงค์" จากนั้นได้มีการสวดเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ การแสดงพระธรรมเทศนา "ปุจฉาวิสัชนา" (เทศน์สองธรรมมาสน์) โดย พระเทพวชิรวาที และ พระครูปลัดธีร์นวัช ญาณสิทฺธาวาที เป็นการเทศน์ที่พระรูปหนึ่งเป็นผู้ถามและพระรูปหนึ่งเป็นผู้ตอบ โดยถาม-ตอบในเรื่องธรรม และเรื่องอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์และสอดคล้องกับสถานการณ์ในช่วงนั้นๆ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมวิธีการเทศน์แบบปุจฉาวิสัชนาให้แพร่หลายสืบไป และเพื่อให้เกิดความรักชาติ เทิดทูนพระมหากษัตริย์ ทำนุบำรุงศาสนา และศิลปะวัฒนธรรม
5 เมษายน 2567     |      61